ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2525 โดยได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวง กุฟตาส โรเซนต์ เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับประชาชนชาวเบลเยียม และสภาสังฆราชคาทอลิคเยอรมันตะวันตก ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทยฯ ได้เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท สำหรับสร้างอาคารโรงงานขนาด 12x40 เมตร 1 หลัง บ้านพักทาวน์เฮ้าส์ 2 ห้องนอน 8 ยูนิต ซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการประกอบงานไม้ ในเนื้อที่ 5 ไร่เศษ เริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2527 และวันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ เปิดศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดอย่างเป็นทางการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวของผู้บกพร่องทางการเห็นที่ผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานมาแล้ว จากสถาบันคนตาบอดทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นมีประสบการณ์และความชำนาญในงานแต่ละด้านมากขึ้น และสามารถทำงานในสถานที่ต่างๆ ภายนอกได้
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด มีเนื้อที่ 5 ไร่เศษ มีโรงงานรวมก่อสร้างเพิ่มขนาด 15x50 เมตร 1 หลัง และอาคารอื่น ๆ อีก 4 อาคารได้แก่ อาคารคุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ เป็นบ้านพักอาศัย 5 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 3,000 ตารางเมตร จำนวนห้องพัก 46 ห้อง และสำนักงาน ห้องประชุม อื่นๆ โรงทาสี โรงอาหารและศาลานวดฯ ขนาด 9 x 12 เมตร 1 หลัง และขนาด 3 x 6 เมตร 1 หลัง สำหรับฝึกนวดและบริการนวดแผนไทย 20 เตียงโดยอาชีพที่ศูนย์ฯ ได้เปิดฝึกอบรม ก็คือ ช่างไม้ นวดแผนไทย และการเกษตร โดยการฝึกอาชีพช่างไม้เป็นอาชีพที่ทางศูนย์ฯ เน้นหลักเนื่องจากเป็นงานที่ผู้บกพร่องทางการเห็น สามารถทำเองถึง 90% ซึ่งผู้บกพร่องทางการเห็น จะได้รับการฝึกอบรมจนเกิดความชำนาญ และประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยไม้ จนสามารถผลิตและจำหน่ายเป็นอาชีพของตนเองได้